จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

โลกาภิวัตน์ : ความยากจน ความไม่เสมอภาค (Globalization: Poverty Inequality)

             ในความเห็นแรกเห็นว่า โลกาภิวัตน์สามารถช่วยลดความยากจนของประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) ได้แต่จะเป็นการดียิ่งขึ้นในการช่วยประเทศที่ยากจนที่สุด (Poorest Country) ซึ่งแนวความคิดนี้เห็นว่าโลกาภิวัตน์สามารถช่วยพัฒนาความเป็นอยู่และรายได้ของประชากรในประเทศเหล่านี้และหวังว่าประชาชนควรให้ความร่วมมือด้วยอย่างมาก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วพบว่าประเทศกำลังพัฒนา 24 ประเทศที่เข้าร่วมในเศรษฐกิจระดับโลกในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี1990) ได้ประสบความสำเร็จในด้านของรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้รวมไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมาตรฐานการศึกษาที่สูงขึ้นดีขึ้น
ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย ฮังการี และเม็กซิโก ได้รับมาซึ่งนโยบายทางการเมืองและสถาบันที่เอื้ออำนวยให้ประชากรได้รับผลประโยชน์จากตลาดการค้าโลก และยังรวมถึงการเพิ่มของรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP) ของประชากรในประเทศด้วย ดังนั้นประเทศที่กล่าวถึงเหล่านี้ประชากรได้ทราบถึงประโยชน์และรายได้ที่มากเพิ่มขึ้น และจำนวนความยากจนของประชากรที่ลดจำนวนลง
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าทุกประเทศที่เข้าร่วมทางเศรษฐกิจจะประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจโลก ประชากรประมาณสองพันล้านคนที่เข้าร่วม เช่นในประเทศแถบแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) ประเทศแถบตะวันออกกลาง ประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตเก่า และคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ถูกมองข้าม ประเทศที่กล่าวถึงเหล่านี้ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำตัวเองให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกได้ เพราะฉะนั้นอัตราส่วนของการค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างประเทศจึงยังคงที่อยู่หรือมิเช่นนั้นก็ลดลง กล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ความยากจนเพิ่มมากขึ้น ระดับการศึกษาก็พัฒนาขึ้นน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ปรับตัวเข้ากับกระแสเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นจะเป็นการดีที่ประเทศที่ยากจนควรพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยแก่การลงทุนมากเพิ่มขึ้น(Investment Climate) และควรสนับสนุนให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนให้มีการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและควรได้มาซึ่งโอกาสอันได้เปรียบของการปรับปรุงส่งเสริมการลงทุนเช่นว่านี้
ในการปรับปรุงสภาวะแวดล้อมที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนและการสร้างงาน ต้องมีหลักธรรมภิบาลในการบริหารที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Governance), มาตรการในการต่อสู้กับการคอรัปชั่น (Combat Corruption), ปรับปรุงระบบการทำงานและขั้นตอนการบังคับบัญชาของหน่วยงานราชการ, การปกป้องทางทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small and Medium-sized firms) ซึ่งธุรกิจที่กล่าวนี้คือกุญแจสำคัญในการสร้างและยกระดับมาตรฐานชีวิตของพื้นที่ยากจนที่อยู่ห่างไกลออกไป (rural poor area)
แม้ว่าจะได้กล่าวมาถึงกระแสโลกาภิวัตน์ในหลายๆด้านแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการยากที่จะให้ความหมายเฉพาะเจาะจงของความสัมพันธ์ระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าพัฒนาทางสังคม โลกาภิวัตน์เป็นหัวข้อที่มีการอภิปรายถกเถียงกันมากที่สุดหัวข้อหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการพัฒนาการของสังคมในช่วงปี 1990 กระแสโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่น่าพอใจและส่งผลดีต่อประชาชนและสังคมโดยทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันบางคนเห็นว่าโลกาภิวัตน์เปรียบเสมือนพลังผลักดันไปสู่ความหรูหรารุ่งเรืองและให้ประเทศที่ยากจนกว่า (Poorer Countries) พยายามก้าวทันไปกับเศรษฐกิจโลกโดยที่ตัวเองยังไม่พร้อม ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไปมองโลกาภิวัตน์ว่าเป็นเสมือนสิ่งที่จำเป็นในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือในระดับประเทศ (Domestic)โลกาภิวัตน์จะทำให้ส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อคนชั้นทำงานในเรื่องสวัสดิการสังคม และอาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในสังคม ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบได้ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาได้เหมือนๆ กัน
สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วคือเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาความกลัวที่เกิดคือการกลัวที่จะไม่สามารถสู้ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในสภาวะการแข่งขันอย่างเสรีและจะทำให้เกิดช่องว่างที่ต่างกันทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจโลกและความกังวลระหว่างกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาว่าโลกาภิวัตน์จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศตนอ่อนแอมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรอบของการส่งออกของประเทศยังไปในลักษณะแคบๆ แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในกรอบของการค้าขายแลกเปลี่ยนได้รับการตอบรับอย่างสูง
ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ ความไม่แน่นอนในระบบเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นที่มีการนำมาลงทุนในประเทศ ซึ่งอาจมีผลเสียกล่าวคือ สถาบันการเงินภายในประเทศไม่แข็งแรงพอที่จะต้านรับไหว (ฐานการเงินของเราอาจจะไม่แข็งแรงพอที่จะต้านรับเงินทุนก้อนใหญ่ที่เข้ามาอย่างรวดเร็วจากต่างประเทศในช่วงระยะเวลาสั้นๆ กล่าวคือ ความไม่พร้อมนั่นเอง) ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
วิกฤติการณ์เรื่องกระแสโลกาภิวัตน์ได้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ กล่าวคือ เกิดการแข่งขันกันระหว่าง ระบบเศรษฐกิจแบบใช้ค่าจ้างแรงงานต่ำ กับ ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ค่าจ้างแรงงานสูง และลดปริมาณการใช้แรงงานที่ไร้ฝีมือ ในขณะที่เศรษฐกิจยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และกระแสโลกาภิวัตน์ก็เป็นหนึ่งในแนวโน้มของโลกที่ยังเดินหน้า แนวโน้มหนึ่งข้อในทั้งหมดก็คือเศรษฐกิจโลกอุตสาหกรรมกำลังเติบโตเต็มที่และโลกปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเป็นการจ้างแรงงานที่มีฝีมือ
ในความเป็นจริง กระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้กระบวนการต่างๆ ของโลกง่ายขึ้น และราคาถูกลง โดยนำผลกำไรและประโยชน์ให้กับรูปแบบการลงทุนแบบทุนนิยม นวัตกรรม เทคโนโลยีและราคาที่ถูกลงของสินค้านำเข้า โดยทั่วไประบบของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และมาตรฐานการครองชีพของกลุ่มประเทศโลกอุตสาหกรรมย่อมจะดีกว่าประเทศที่เป็นเศรษฐกิจระบบปิด แต่ได้รับประโยชน์ในรูปแบบของกระแสโลกาภิวัตน์ในกลุ่มประเทศต่างๆ นั้นจะไม่เท่ากัน บางประเทศจะสูญเสียผลประโยชน์และยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมได้
นโยบายตอบสนองที่เหมาะสมสำหรับกระแสโลกาภิวัตน์ในประเทศต่างๆ
รัฐบาลควรปกป้องผลประโยชน์ให้กับกลุ่มที่เสียเปรียบ เช่น กลุ่มแรงงานไร้ฝีมือที่ได้ค่าแรงต่ำ  หรือรัฐบาลควรเข้มงวดกับเรื่องสินค้านำเข้า หรือรัฐบาลควรจะเข้มงวดกับการค้าขายแลกเปลี่ยนและนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ โดยทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องการแก้ปัญหาแบบระยะสั้นเท่านั้น สำหรับนโยบายที่รัฐบาลควรจะทำก็คือ เสริมสร้างความผสมกลมกลืนเรื่องกระแสโลกาภิวัตน์ให้กับประเทศตน ในขณะเดียวกันก็ควรจะดูแลแรงงานประเภทได้ค่าจ้างแรงงานต่ำและได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงนี้ อีกทั้งควรส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเปิดให้มีการค้าได้โดยเสรี เพื่อให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลควรจะเป็น 2 สิ่งสำคัญ ดังนี้
  • เน้นฝึกฝนวิชาชีพ และให้การศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม จุดประสงค์เพื่อให้แรงงานทั้งหลายได้พัฒนาฝีมือของตนให้เหมาะสมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
  • ต้องมีระบบการวางแผนที่ดีด้านสวัสดิการทางสังคม สำหรับช่วยเหลือกลุ่มแรงงานในกรณีที่ไม่มีงานทำ
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงปี 1990 ที่เกิดใน เม็กซิโก ไทย อินโดนีเซีย เกาหลี รัสเซีย และบราซิล เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของโลกาภิวัตน์ จะเห็นได้ชัดว่า ช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่มีการเปิดกว้างของตลาดทุนโลกและในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยในการพัฒนาการการเติบโตของประเทศหากไม่มีเงินทุนที่ไหลเวียนเข้ามา ซึ่งวิกฤติการณ์ที่ซับซ้อนนี้เป็นผลมาจากข้อบกพร่องทางด้านนโยบายของรัฐและระบบการเงินระดับประเทศ ซึ่งปัจเจกบุคคลรวมทั้งสังคมระดับประเทศควรระวังและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ส่วนวัตถุประสงค์ของทิศทางเศรษฐกิจระดับโลก คือ พยายามทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจและการเงินมั่นคงขึ้น วัตถุประสงค์โดยกว้างๆ คือ ให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ซึ่ง IMF เป็นจุดศูนย์กลางและมีบทบาทสำคัญของกระบวนการนี้


ที่มา http://www.baanjomyut.com

โลกาภิวัตน์กับมิติทางสังคม

           โลกาภิวัตน์ มีขอบเขตของความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมทุกมิติอันเกิดจากขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย เทคโนโลยี การสื่อสาร รวมทั้งระบบสิ่งแวดล้อม เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราสามารถแยก โลกาภิวัตน์ของแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้
โลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจ (Globalization of the Economy)
จากการค้นคว้าจากเอกสารหรือบทความทางวิชาการ พบว่าส่วนใหญ่ จะกล่าวถึง การผสมผสานกันระหว่างอุดมการณ์ระบบการตลาดแบบเสรีนิยม (Liberalism) กับ ความเจริญก้าวหน้าของการติดต่อสื่อสารรวมทั้งเทคโนโลยีการขนส่งซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย สินค้า บริการ และเงินทุน จากประเทศที่เป็นแกนกลางแห่งการพัฒนาโลก (Core Countries) อันหมายถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทางตะวันตก อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ไปยังประเทศที่อยู่ระหว่างกึ่งชายขอบ (Semi-Periphery) ซึ่งหมายถึง ประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่อยู่ชายขอบแห่งการพัฒนา (Periphery) ซึ่งหมายถึงประเทศด้อยพัฒนา ตามลำดับ
ชาติตะวันตกต้องการที่จะเปิดตลาดโลกสำหรับสินค้าที่ตนผลิตขึ้นและกอบโกยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร แรงงานราคาถูกจาก ประทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ผ่านทางการกำหนดนโยบายของผู้เรืองอำนาจในประเทศอันเอื้อประโยชน์ให้แก่การแสวงหาผลประโยชน์ บรรดาประเทศเหล่านี้จะใช้กฎ ระเบียบของสถาบันการเงินระหว่างชาติรวมทั้งข้อตกลงทางการค้าเพื่อบีบบังคับให้บรรดาประเทศที่ยากจนต้องถูกผนวกและลดกำแพงภาษีนำเข้า ยอมปล่อยให้กิจการของรัฐตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของต่างชาติ ย่อหย่อนในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งรวมทั้งการลดมาตรฐานการครองชีพของแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ ซึ่งทำให้ได้กำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทว่า ให้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิดแก่ผู้ใช้แรงงานจนทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับเชิงปฏิเสธความไม่เท่าเทียมกัน(Inequity) การถูกครอบงำจากประชารัฐที่เหนือกว่าในทุกๆด้าน
โลกาภิวัตน์ ทางด้านเศรษฐกิจ(Globalization of Economy)
 จึงหมายถึง บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนพื้นโลกที่มีการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกันจนเป็นอาณาบริเวณที่กว้างขวาง โดยโลกเศรษฐกิจจะไม่มีพรมแดนในลักษณะที่สอดคล้องกับการแบ่งเขตเกี่ยวข้องกับดินแดนหรืออาณาเขต ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐ (State) แต่เป็นเขตแดนทางเศรษฐกิจ โดย โลกาภิวัตน์ในความหมายนี้ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยมีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเป็นกลไกที่สำคัญที่ผลักดันให้กลายเป็นกระแสของการแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าของประเทศที่แข็งแรงกว่าเข้าครอบงำประเทศที่อ่อนแอกว่า โลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้คือ
ทุน (Capital)
เศรษฐกิจโลกซึ่งจะต้องเป็นไปตามอุดมการณ์ของลัทธิทุนนิยม (Capitalism) ภายใต้การแข่งขันในลักษณะเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นลักษณะเศรษฐกิจของโลกตะวันตกที่มีเนื้อหาเน้นการสะสมทุนและการค้าแบบเสรี โดยต่างก็จะให้มีการเปิดการค้าระหว่างประเทศให้เป็นการค้าที่ไร้พรมแดนแต่ภายใต้การค้าเสรีนี้ ความได้เปรียบของบริษัทข้ามชาติ ก็จะมีมากกว่า ซึ่งเป็นความเสรีที่ไม่เท่าเทียมกัน ทุนจะมีการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศต่างๆของโลกที่ให้เงื่อนไขและผลประโยชน์ที่ได้กำไรสูงสุด  
การครอบงำผ่านทางข้อมูล-ข่าวสาร (Information Hegemony)
การปฏิวัติทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้มีการเชื่อมโยงสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว โลกถูกเชื่อมด้วยข้อมูลข่าวสารและมักเป็นข้อมูลข่าวสารฝ่ายเดียวจากโลกตะวันตก หรือจากประเทศซึ่งมีอำนาจเศรษฐกิจและการทหารที่เหนือกว่า โดยการครอบงำและสร้างกระแสข่าวตามที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองและเศรษฐกิจของตะวันตก เป็นการครอบงำทางข่าวสาร และวัฒนธรรมซึ่งมีผลต่อความเชื่อของมนุษยชาติในการที่จะต้องบริโภคข่าวสาร, การบริโภคสินค้า, บริการ และวัฒนธรรมของตะวันตกนั้นและเชื่อว่าการบริโภคนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
3) ค่านิยม (Value)
โลกาภิวัตน์ได้สร้างค่านิยมผ่านทางข้อมูลข่าวสาร โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ
  • ค่านิยมทางการเมือง
    ทุกประเทศในโลกต้องเป็นแนวประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งประเทศต่างๆ หากจะต้องมีรูปแบบการเมืองการปกครองในแบบเดียวกัน มิฉะนั้นก็จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือใช้กำลังทหารเข้าไปปลดปล่อยให้เป็นประชาธิปไตย โดยไม่สนใจต่อความพร้อมหรือวิถีชีวิตของคนในประเทศเหล่านั้น ซึ่งการเมืองในระบบประชาธิปไตย เมื่อถูกผ่านการครอบงำผ่านทางข้อมูลข่าวสารจากโลกตะวันตก ก็จะทำให้ประชาชนมีค่านิยมที่จะเลือกผู้นำที่มีแนวความคิดแบบการค้าเสรีหรือเป็นนายทุนเศรษฐกิจแบบตะวันตกไปเป็นรัฐบาล ซึ่งก็จะมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ กฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทข้ามชาติสามารถเข้าไปแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งมีความอ่อนแอกว่า ซึ่งจะมีผลต่อจะต้องมีการพึ่งพาโลกตะวันตก
  • ค่านิยมทางเศรษฐกิจ
    โลกจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ มีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) โดยถือหลักการว่าที่ไหนถูกก็ผลิตหรือซื้อที่นั่น โดยต่างฝ่ายจะใช้มาตรการทางภาษีให้มีน้อยที่สุด โดยโลกตะวันตกก็จะมีการปกป้องธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันกันได้ในรูปแบบของการกีดกันทางการค้า ในแบบที่เรียกว่า Non Tariff Barrier (NTB) การค้าของโลกจะตกอยู่ภายใต้กติกาขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ที่โลกตะวันตกไม่กี่ประเทศเป็นผู้บงการ และข้อตกลงในลักษณะที่เป็นทวิภาคี ได้แก่ ที่มาในรูปแบบของเขตการค้าเสรี (Free Trade Area –FTA) ซึ่งหาก WTO ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ก็จะมีการทำข้อตกลงความร่วมมือในระดับภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (Asian Free Trade Area - AFTA ), ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิค (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) เป็นต้นดังนั้น การค้าเสรีของ Globalization นั้นจึงเป็นความเสรีบนความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ใช่ความยุติธรรมทางการค้า
  • ค่านิยมทางสังคม
    โดยการครอบงำทางสังคมวัฒนธรรม โดยผ่านทางข้อมูลข่าวสาร ทำให้การค้าของโลกจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Right) การบริโภคนิยม (Consumerism) การนิยมวัตถุ (Materialism) รวมถึงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งจะอนุรักษ์เฉพาะในสิ่งที่ประเทศด้อยพัฒนาไม่พร้อม แต่โลกตะวันตกพร้อม
  • ค่านิยมการปกป้องทางการค้า (Protectionism)
    การค้าโลกาภิวัตน์ จะเกิดขึ้นพร้อมกับการปกป้องทางการค้าในรูปแบบของลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะมาจากโลกตะวันตก ซึ่งจะใช้ลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือในการปกป้องสินค้าและบริการ นอกเหนือจากนี้การใช้มาตรการทางด้านการเงิน ผ่านกองทุนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB )และฯลฯ ซึ่งองค์กรทางด้านเศรษฐกิจระดับโลกเหล่านี้มักจะมีเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจข้ามชาติ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้อง รวมทั้งการใช้มาตรการที่ป้องกันผู้ก่อการร้ายของก็อยู่ในกระแสของโลกาภิวัตน์เช่นกัน
อีกความหมายหนึ่งของโลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจ คือ การที่โลกเราเป็นโลกไร้พรมแดน เป็นโลกที่เรียกว่า Borderless World คือ เป็นโลกของการไหลเวียนทางสินค้า การเงินและการบริการ หรือเป็นยุคที่เรียกว่า Free Trade คือ ยุคการค้าเสรี “โลกาภิวัตน์” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลกในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะในแง่มุมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กระแสโลกาภิวัตน์ได้แทรกซึมเข้าไปและส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจเพราะเกิดการโต้เถียงกันถึงผลของโลกาภิวัตน์ว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความร่ำรวยและความยากจนในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของกระแสโลกาภิวัตน์นี้ก็แตกต่างกันออกไปตามความคิดของคนซึ่งอยู่ต่างสังคมกัน
ดังนั้นกระแสโลกาภิวัตน์จึงส่งผลเด่นชัดในแง่มุมของเศรษฐกิจเพราะกระแสโลกาภิวัตน์เกิดจากการพัฒนาของระบบทุนนิยมนั่นเอง เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และสังคมรอบโลกเป็นผลมาจากการเกิดการหมุนเวียนของสินค้าและการให้บริการ เงินทุน คนและการพัฒนาการทางความคิดต่างๆ กระบวนการเหล่านี้เป็นผลมาจากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้ชัดเจนจากการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายแลกเปลี่ยนและการหมุนเวียนทางด้านการเงิน การเติบโตทางกิจกรรมการค้าขายระหว่างประเทศนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายแบบ กิจกรรมการค้าขายนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการค้าขายระหว่างบรรษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบและระดับชั้นเช่น การค้าขายระหว่างพ่อค้าปลีกตามแนวพรมแดน ไทย-พม่า เพราะกิจกรรมการค้าขายเหล่านี้เป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์เช่นกัน หรือที่เรียกว่า “Cross-border economic activities”
“Economic Globalization” คือ กระบวนการการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วระหว่างประเทศ กระบวนการเหล่านี้ถูกผลักดันให้ขับเคลื่อนโดยการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) การนำเงินเข้ามาลงทุนของต่างชาติ (Foreign Direct Investment) และโดยระบบเงินทุนที่หมุนเวียน กระบวนการเหล่านี้แสดงออกในตัวมันเองในรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
  • การค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศทางสินค้าและบริการ(International Trade of Goods and Services)
    การเติบโตของประเทศที่นำเข้าซึ่งสินค้าและบริการมาจากต่างประเทศ และการเพิ่มมากขึ้นของประเทศที่ส่งสินค้าออกขายนอกประเทศ และจากสถิติของ World Bank’s World Development Indicators 2000 การค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้าไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) ต่างมีสถิติตัวเลขที่ทวีมากเพิ่มขึ้น
  • การลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment and Short-term Flows)
    การที่บริษัทที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประทศใดประเทศหนึ่งและมาลงทุนในการดำเนินธุรกิจยังประเทศอื่นที่ ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนขึ้นในประเทศนั้นๆ ทำให้หลายๆ ประเทศที่ต้องการเงินสนับสนุนลงทุนจากต่างชาติมีนโยบายมาสนับสนุนและเพิ่มความสะดวกสบายแก่นักลงทุนชาวต่างชาติมากเพิ่มขึ้น
  • การหมุนเวียนของตลาดทุน (Capital Market Flows)
    ในหลายๆ ประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนา) การออมของประชาชน (saving) มีมากเพิ่มขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น การซื้อพันธบัตรต่างชาติและพยายามไม่ลงทุนมากนักเพราะต้องการเก็บรวมทรัพย์สินของตนไว้ด้วยกัน เป็นผลให้ผู้กู้ยืม(Borrower) ที่มีมากเพิ่มขึ้น ต่างต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศพร้อมๆ กันกับที่หาในประเทศ
ปัจจุบันแม้ว่าคำว่า “โลกาภิวัตน์” จะใช้กันอย่างกว้างขวาง แต่ความหมายก็ไม่ได้ชัดเจนครอบคลุมโดยทั้งหมดและส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ในด้านของกระบวนการการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งเกิดจากการค้าขายแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุนและเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งมากพอๆกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์เกี่ยวข้องกับในทุกด้าน ทั้งทางด้านธุรกิจ แรงงาน สินค้า และบริการ
ดังนั้น ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงโลกาภิวัตน์ จึงเกี่ยวพันและส่งผลถึงสภาพเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ และหัวข้อที่องค์กรและกลุ่มคนส่วนใหญ่กล่าวถึงคงไม่พ้นในเรื่อง “กระแสโลกาภิวัตน์ : ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน” (Globalization : Poverty and Inequality) ซึ่งได้โต้แย้งและมีความคิดเห็นแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายในเรื่องนี้ เพราะฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการเปิดตลาดเสรีนำไปสู่ความมั่งคั่ง และการแข่งขันทำให้นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ, ความก้าวหน้า, ราคาสินค้าที่ต่ำลง, ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับมีความเห็นขัดแย้งว่าความเจริญก้าวหน้า การเปิดการค้าเสรีซึ่งเป็นผลทำให้มีการแข่งขันสูงและเป็นเหตุให้เกิดภาวะการแข่งขันในการลดราคาสินค้าทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถต้านทานแรงขายปริมาณมากในราคาขายต่ำของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีเงินทุนมากไว้ได้ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กนั้นต้องล้มไป
โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคม( The social dimension of globalization)
โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคม หมายถึง ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อวิถีชีวิตส่วนบุคคล ครอบครัว อาชีพการงาน รวมทั้งชีวิตทางสังคมของผู้คน ประเด็นเน้นหนักจะเกี่ยวข้องกับการทำงาน สภาพการทำงาน รายได้ และการคุ้มครองหรือสวัสดิการสังคม นอกเหนือไปจากนั้น มิติทางด้านสังคมจะครอบคลุมถึง ความปลอดภัยในทรัพย์สิน วัฒนธรรมรวมทั้งอัตลักษณ์ ความสามัคคีการแตกแยก รวมทั้งความสมานฉันท์สามัคคีในครอบครัวและชุมชน
โลกาภิวัตน์ทางด้านสังคมจะมุ่งไปสู่การขจัดปัญหาการว่างงาน ความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาค รวมทั้งความยากจน และความยั่งยึนของโลกาภิวัตน์ทุกด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและกฎหมาย จะบังเกิดสัมฤทธิ์ผลของโลกาภิวัตน์ขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์นั้นสนองตอบต่อความต้องการของคนในสังคมในภาพรวม
โลกาภิวัตน์ทางด้านวัฒนธรรม (Globalization of Culture )
การแพร่กระจายของค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรมตะวันตกจะยิ่งช่วยส่งเสริมแนวคิดแบบทุนนิยมตะวันตก และทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมการบริโภค เอาชนะจิตสำนึกและจิตวิญญาณ รวมทั้งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชน
ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทุกด้าน อาทิเช่น การติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ท ดาวเทียม เคเบิลทีวี จะทำลายกำแพงแห่งวัฒนธรรม รายการสาระและบันเทิงจะค่อยๆพัฒนาการรับรู้และความใฝ่ฝันตามความนิยมชมชอบไม่ว่าจะอยู่แห่งใดในโลก ในขณะเดียวกันกับที่ ค่อยๆแทรกซึม ค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มเอื้อหนุนต่ออุดมการณ์แบบทุนนิยมตะวันตก วัฒนธรรมดั้งเดิมอาจจะตกเป็นเหยื่อ อุดมการณ์บริโภคนิยมจะมีชัยต่อจิตสำนึกชุมชนและความสมานฉันท์สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในสังคม
โลกาภิวัตน์ทางด้านกฏหมาย (Globalization of Law )
ในอดีต กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐ-ชาติ ซึ่งศาลสถิตย์ยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะตำรวจจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการปกครอง ในลักษณะตรงกันข้าม กฎหมายระหว่างประเทศค่อนข้างจะอ่อนแอรวมทั้งมีอำนาจในการบังคับให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพ
ทว่าโลกาภิวัตน์ทางด้านกฎหมาย ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงร่างของกฎหมายรวมทั้งการสถาปนาบรรทัดฐานและสถาบันทางด้านกฎหมายของโลก ศาลอาญาของโลก ให้สัตยาบันว่าจะสร้างความยุติธรรมให้แก่บุคคลแห่งรัฐ บนพื้นฐานแห่งกฎหมายอาญาทั่วโลก ในขณะเดียวกันกับที่ความร่วมมือระหว่ารัฐต่อรัฐได้ทำให้เกิดการทดลองใช้ความผิดทางอาญาที่มีความชัดแจ้งร่วมกันว่าเป็นการกระทำความผิด
การเปลี่ยนแปผลงทางด้านกฎหมายทางธุรกิจไปสู่ระดับโลก จะก้าวหน้ามากกว่ากฎหมายอย่างอื่นด้วยเหตุที่หลายประเทศได้บรรลุข้อตกลง กฎ กฎหมายรวมทั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามาตรฐานเดียวกัน ทูตพาณิชย์จากหลายประเทศรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกันร่างกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย ทรัพย์สินทางปัญญา ตราสารเอกสารทางด้านการเงินระหว่างประเทศ หรือ บรรษัทที่มีกิจการระหว่างชาติขนาดใหญ่ ได้ปรับปรุงกฎระเบียบวิธีการปฏิบัติให้ก้าวสู่การเป็นบริษัทระหว่างชาติด้วยการสร้างรูปแบบการปฏิบัติขนาดยักษ์ ด้วยผู้ชำนาญการนับพันคนในมากกว่าสิบประเทศ
โลกาภิวัตน์ทางด้านการเมือง(Globalization of Politics)
ในอดีต ระบบการเมืองของประเทศต่างๆทั่วโลก ต่างมุ่งเน้นไปที่ความพยายามที่จะผดุงไว้ซึ่งความมั่นคงและความมั่งคั่ง ความผาสุกของประชน การพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสิทธิมนุษยชนที่อยู่ภายใต้อาณัติเขตแดนของตน แต่ด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางด้านนิเวศน์ การผนึกกำลังกันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมทั้งแนวโน้มของกระแสโลกาภิวัตน์ทางด้านอื่น ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางด้านการเมืองขยายตัวสู่ระดับโลกตามไปด้วย ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ระบบการเมืองจำต้องปรับตัวให้สูงกว่าระดับประเทศ ด้วยการแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก อาทิเช่น การสถาปนาสหภาพยุโรป(European Union- EU) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ ธนาคารโลก (World Bank) หรือองค์การการค้าโลก (World Trade Organization)
สรุป
  • โลกาภิวัตน์ เป็น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับโลก
  • โลกาภิวัตน์ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของ ประชาคมโลกทุกด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง กฎหมาย เทคโนโลยีและวัฒนธรรม
  • ผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาคมโลก สามารถแยกออกเป็นสองแนวทาง คือ
    ในทางลบ ผลกระทบนั้นจะหมายความรวมถึง
    - การครอบงำโลกทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอภิมหาอำนาจ โดยใช้ ความได้เปรียบที่เหนือกว่าทางด้านความก้าวหน้าทางสื่ออิเล็กโทรนิกส์ อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ทลายกำแพงแห่งวัฒนธรรมจนต้องถูกผนวกเข้าเป็นประเทศกึ่งบริวาร และประเทศบริวารในท้ายที่สุด
    ในทางบวก โลกาภิวัตน์ จะหมายความรวมถึง
    -การส่งเสริมปัจจัยทางด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี ระบบการผลิตข้ามพรหมแดน และการแพร่สะพัดของระบบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทำให้ประชาคมโลกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันและกันมากยิ่งขึ้น
    -นโยบายและสถาบันต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการผนึกกำลังทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งในระดับทวิและพหุภาคี อาทิเช่น มาตรฐานการใช้แรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การควบรวมกิจการ รวมทั้งข้อตกลงว่าด้วยการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา
    - ในความหมายนี้ โลกาภิวัตน์ มิได้เป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่เป็นผลพวงของนโยบาย ซึ่งสามารถจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ข้อเท็จจริงในสังคมไทย
  • สภาพสังคมไทยปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารแต่สังคมเกษตรกรรมทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ และสังคมอุตสาหกรรมก็ยังคงอยู่
  • สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีความสับสนและยุ่งเหยิงที่เกิดจากการเชื่อมต่อกันของยุคอุตสาหกรรม ยุคข้อมูลข่าวสารและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
  • คนไทยกว่าร้อยละสี่สิบ ยังคงเป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม



ที่มา  http://www.baanjomyut.com

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ในอนาคต

              โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้นล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายภายในประชาคมโลกทั้งในยุคปัจจุบันและในอนาคต แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้ฉันท์ใด ก็สามารถทำลายล้างชีวิตและสังคมของมนุษย์ได้ฉันท์นั้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่มีต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงว่าจะไปทางด้านใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ครอบครองเทคโนโลยีจะมี “จริยธรรม” ในการนำไปประยุกต์ใช้มากน้อยเพียงใด ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “ผู้ใดครอบครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ”
ในสถานการณ์ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อาจดูเหมือนว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วที่เป็นฝ่ายครอบครองเทคโนโลยีที่สูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนา กำลังใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการครอบงำทางเศรษฐกิจซึ่งประเทศที่ไม่สามารถมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองต่างก็มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ต้องนำทรัพยากรต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่แลกกับการนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัย ท่ามกลางการค้าระหว่างประเทศที่อำนาจในการต่อรองกลับตกอยู่กับประเทศที่ครอบครองเทคโนโลยีทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมตามมา กล่าวคือ ประเทศด้อยพัฒนาที่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองมีสถานะเป็นเพียงประเทศที่เป็นฐานการผลิต เนื่องจากมีทรัพยากรทางการผลิตราคาถูกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ดิน แรงงาน ฯลฯ อีกทั้งกฎหมายที่ให้การคุ้มครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่มีหรือยังขาดการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ผลที่ตามมาก็คือทรัพยากรเหล่านั้นถูกดูดซับไปเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเจ้าของเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ปรากฏภายหลังจากการเข้ามาลงทุนของประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีเหล่านั้นก็คือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบในเรื่องของสิ่งแวดล้อมของประเทศผู้ผลิต
ดังนั้นเมื่อการใช้เทคโนโลยีเป็นไปเพื่อตอบสนองความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันในด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยมีได้คำนึงถึงในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์เป็นสำคัญ ก็ทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในหมู่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยี แต่กลับทำให้ประเทศที่ด้อยพัฒนาตกอยู่ในสภาวะด้อยพัฒนาต่อไป
จากสภาวการณ์ข้างต้นคงเป็นบทเรียนราคาแพงของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่จำเป็นต้องปรับตัวในเรื่องการสร้างองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีด้วยตนเอง เพื่อมิให้ตกอยู่ในสถานะของประเทศที่พึ่งพาทางเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพราะหากประเทศใดไม่มีเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นของตนเอง ก็เท่ากับว่าการพัฒนาประเทศในอนาคตถูกกำหนดชะตากรรมโดยผู้อื่น ดังนั้นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ อยู่ที่ความพยายามในการสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันในเวทีการค้าโลก ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ หากประเทศใดไม่เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งผลถึงอนาคตที่มืดมนของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนทางเดียวที่จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อการเอาชนะที่ทรงอานุภาพยิ่ง ก็คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ รวมทั้งเพื่อทดแทนการนำเข้าทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไปจากการพึ่งพาต่างประเทศมาเป็นการพึ่งตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันจะทำให้ประเทศชาติสามารถดำรงรงอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์


ที่มา  http://www.baanjomyut.com

นาโนเทคโนโลยีในอนาคต

       นาโนอิเล็กทรอนิกส์ 
เช่น คอมพิวเตอร์นาโน จักรกลนาโน โดยที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้การผลิตคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงไปได้อีก เช่น การผลิตเป็น "ชิพความจำ (memory chip)" ที่ใช้โมเลกุลของสสารเป็นทรานซิสเตอร์แทนที่จะเป็นซิลิกอนทรานซิสเตอร์ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
นาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์
อาทิเช่น การสร้างหุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว (เส้นผ่าศูนย์กลาง 500 – 3,000 นาโนเมตร) หรือขนาดเท่าเม็ดเลือดแดง ซึ่งสามารถเข้าไปรักษาโรค ซ่อมแซมผนังเซลล์ ทำลายไขมันที่อุดตันในเส้นเลือดหรือมะเร็งเนื้อร้ายในจุดที่เราต้องการได้ โดยไม่ต้องใช้การผ่าตัดแต่อย่างไร เป็นต้น หรือการใช้เซลล์ประดิษฐ์ขนาดจิ๋วที่เรียกว่า “นาโนดีคอย” ในการดักจับไวรัส (เอดส์ ตับอักเสบ หรือ ไข้หวัดใหญ่) แทนกลไกภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมทั้งการผลิตแก้วหูเทียม ผิวหนังเทียมสามารถทำขึ้นทดแทนได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น

นาโนวัสดุศาสตร์
เช่น ท่อนาโนซึ่งเป็นวัสดุสมัยใหม่ที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทานเป็นพิเศษสามารถกำหนดรูปร่างได้ตามต้องการ รวมถึงวัสดุฉลาดต่างๆ ซึ่งวัสดุฉลาดในแง่ของนาโนศาสตร์ หมายถึงการสร้างวัสดุในระดับนาโนให้สามารถทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้ตามเป้าหมาย เช่นโครงสร้างที่ซ่อมแซมตัวเองได้ วัสดุที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้เอง เชื้อเพลิงจรวดที่เผาผลาญอย่างรวดเร็ว เครื่องตรวจจับอาวุธชีวภาพเสื้อผ้าไร้รอยยับและป้องกันรอยเปื้อน ฝุ่นไม่เกาะ ครีมที่สามารถ แทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ลึกยิ่งขึ้น แว่นกันแดดที่ลดการสะท้อนแสง ป้องกันรอยขีดข่วน สีทาผนังที่ป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต เป็นต้น ซึ่งในอนาคตนาโนเทคโนโลยีจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ดีขึ้น ในขณะที่ใช้วัสดุต่างๆ น้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง

อย่างไรก็ตามผลทางด้านลบของนาโนเทคโนโลยี อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากว่ามีการใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อการทำลายล้าง เช่น การสร้างเครื่องยนต์ขนาดจิ๋วเพื่อการสังหารหรือทำลายล้างศัตรู อุปกรณ์จิ๋วทางการแพทย์อาจถูกใช้เป็นอาวุธในการฆาตกรรมหรืออาวุธที่มีขนาดเล็ก เรียกว่า Nano-weapon ซึ่งสามารถซุกซ่อนไปก่ออาชญากรรมได้ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอาวุธที่ทำมาจากท่อนาโนคาร์บอนที่ไม่สามารถใช้เครื่องตรวจสอบโลหะตรวจจับได้ เป็นต้น




ที่มา  http://www.baanjomyut.com

ผลิตภัณฑ์นาโนในปัจจุบัน



ปัจจุบันสินค้านาโนมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้านาโน ครีมหน้าเด้งและครีมกันแดดนาโน อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่คุ้นเคยกันมากขึ้น ผลจากการสำรวจพบว่าผลิตภัณฑ์นาโนออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส มีการจัดสิบอันดับผลิตภัณฑ์ นาโนที่มีการออกจำหน่ายในปี ค.ศ.2003 จำนวน 10 อันดับ ผลิตภัณฑ์นาโนที่กล่าวถึงเรียงตามลำดับได้แก่
  1. แผ่นรองในรองเท้าเพื่อเพิ่มความอบอุ่นสำหรับทหารและนักกีฬาสกี ชื่อว่า Shock Doctor และ Aerogel Hotbed คือแผ่นรองที่ทำให้เท้าเย็นสบาย แผ่นรองดังกล่าวอาศัยเทคโนโลยี รูพรุนขนาดนาโนทำหน้าที่เป็นฉนวน จึงทำให้มีประสิทธิภาพดีกว่าวัสดุที่ใช้แบบเดิมถึง 20 เท่าตัว และบางเพียง 2.5 มิลลิเมตรเท่านั้น
  2. ที่นอนซักได้ยี่ห้อ Healthsmart ที่แผ่นผ้าปูด้านบนมีซิป สามารถถอดออกมาทำความสะอาด และผ้านั้นผลิตจากเส้นใยที่มีรูกลวงขนานนาโนสามารถขับไล่เหงื่อและความชื้นขณะที่เรานอนหลับ
  3. ไม้กอล์ฟและลูกกอล์ฟนาโน โดยบริษัท Maruman ของญี่ปุ่น ได้ออกจำหน่ายหัวไม้ไดรเวอร์ที่ผสมลูกบอลคาร์บอนนาโน ทำให้ก้านมีความสามารถในการต้านแรงได้ มากกว่าแบบไทเทเนียมถึง 12% และแข็งกว่าประมาณ 3.6% และทำให้ตีไกลกว่าเดิม 15 หลา
  4. ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว Bionova ที่ผลิตมาเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคล ให้เหมาะกับอายุ เชื้อชาติ ชนิดของผิว ของแต่ละคน
  5. ผ้าปิดแผลนาโนซิลเวอร์ยี่ห้อ Ecotru ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคและกันการติดเชื้ออย่างดีเยี่ยม
  6. น้ำยาทำความสะอาดนาโนที่ผลิตจากบริษัทเดียวกับข้อ 5 ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด
  7. สเปรย์กันน้ำนาโน มีการผสมอนุภาคนาโนพิเศษ สามารถใช้เคลือบพื้นผิวต่างๆ ช่วยทำให้น้ำไม่สามารถเกาะและง่ายในการทำความสะอาด
  8. น้ำยาเคลือบกระจกรถยนต์ยี่ห้อ Clarity Defender ที่ช่วยป้องกันหิมะ น้ำฝนและแมลงให้เกาะติดกับกระจกช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับขี่ได้ถึง 34%
  9. ครีมแก้ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ ยี่ห้อ Flex-Power ที่ใช้ไลโปโซมขนาด 80 นาโนเมตร บรรจุตัวยาให้สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังเร็วขึ้น
  10. กาวติดฟัน ที่ผลิตโดยบริษัท 3M ที่มี่ส่วนผสมของอนุภาคซิลิกาขนาดนาโน ช่วยทำให้ติดได้แข็งแรงมากขึ้นและไม่เกาะตัวเป็นก้อนเวลาใช้งาน


ที่มา  http://www.baanjomyut.com

การพัฒนานาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)

            เนื่องจากนาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการจัดเรียงตัวของอนุภาคขนาดเล็ก เช่น อะตอมหรือ โมเลกุลเข้าด้วยกัน ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้จึงต้องมีความสามรถในการมองเห็นอะตอมได้ ซึ่ง ดร.เกิร์ด บินนิก (Gerd Binnig) และ ดร.ไฮริกช์ รอเรอร์ (Heinrich Rohrer) เป็นผู้ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษขึ้นมาที่เรียกว่า Scanning Tunneling Microscope หรือที่เรียกย่อว่า STM ซึ่งสามารถให้เราได้เห็นภาพของอะตอมเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ.2524) และทั้งสองคนได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานนี้ในปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ.2529) ซึ่งนอกจาก STM จะทำให้เราสามารถมองเห็นอะตอมได้เป็นครั้งแรกแล้ว เครื่องมือนี้ยังสามารถนำมาใช้เคลื่อนย้ายและจัดเรียงอะตอมให้อยู่บนพื้นผิวตามตำแหน่งที่ต้องการได้ด้วย
การเคลื่อนย้ายอะตอม ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 เมื่อนาย Don Eigler  นักฟิสิกส์ ประจำห้องทดลองของบริษัท IBM ใช้เข็มปลายแหลมของกล้องจุลทรรศน์ STM ทำการเคลื่อนย้าย อะตอมของธาตุ Xenon จำนวน 35 อะตอม มาวางเรียงกันลงบนแผ่นนิกเกิล จนได้เป็น ป้ายชื่อบริษัท IBM ขนาดเล็กที่สุดในโลก คือมีขนาดเพียง 0.0000017 เมตร หลังจากนั้นก็ได้มีการทดลองและศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีในระดับนาโนขึ้นอีกหลายชิ้นเพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาอุปกรณ์ ขึ้นใช้ประโยชน์ ในด้านต่าง ๆ ต่อไป
  
ตัวอย่างงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น ในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ.2528) ศ.ดร. ฮาร์โรลด์ โครโต้ (Harold Kroto) นักฟิสิกส์ด้านอวกาศแห่งมหาวิทยาลัยซัสเซ็ก (University of Sussex) สหราชอาณาจักร ร่วมกับ ศ.ดร. ริชาร์ด สมอลลีย์ (Richard Smalley) และ ศ.ดร. โรเบิร์ต เคิร์ล (Robert Curl) ณ มหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice university) สหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลคาร์บอนที่มีรูปร่างเป็นทรงกลมเหมือนลูกฟุตบอลที่ประกอบด้วยคาร์บอน 60 อะตอม นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามท่านได้ตั้งชื่อรูปทรงกลมนี้ว่า “บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน” (Buckminster Fullerene) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า บัคกี้บอล (Bucky ball) ซึ่งผลจากการค้นพบครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 1996
ต่อมานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจำนวนมากต่างก็พากันศึกษาคุณสมบัติในด้านต่างๆ ของบัคกี้บอลกันอย่างมโหฬาร หนึ่งในนั้นก็คือการศึกษาสรรพคุณทางยาของบัคกี้บอล ผลจากการศึกษาที่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ พอจะสรุปสรรพคุณทางยาของบัคกี้บอลได้ดังนี้
  • สรรพคุณในการเป็นยาต่อต้านไวรัส (Antivirals)
  • สรรพคุณในการเป็นสารต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterials)
  • สรรพคุณในการต่อต้านมะเร็งและเนื้องอก (Tumor/Anti-Cancer therapy)
  • สรรพคุณในการเป็นสารต่อต้านการตายของเซลล์ (Anti-apoptosis agents)
  • สรรพคุณในการเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)
นอกจากคุณสมบัติเชิงฟิสิกส์และเคมีซึ่งสามารถนำมาบั๊คกี้บอลประยุกต์ใช้เป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด ยังสามารถนำบัคกี้บอลไปใช้ประโยชน์ในด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ (nanoelectronic) เป็นส่วนประกอบหลักในการพัฒนาเซลล์สุริยะ รวมทั้งการใช้บัคกี้บอลเป็นตัวบรรจุอะตอมโลหะและโมเลกุลของก๊าซชนิดต่างๆ เช่น ไฮโดรเจน เป็นต้น
นอกจากนี้ในปี 2539 ซูมิโอะ อิจิมา (Sumio Iijima) นักเคมีแห่งบริษัท NEC ประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบท่อนาโนคาร์บอน (carbon nanotube) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ 50,000 เท่า แต่มีคุณสมบัติที่แข็งแรงและเหนียวกว่าเหล็กกล้า 100 เท่า สามารถนำไฟฟ้าหรือว่ากลายเป็นฉนวน (ไม่นำไฟฟ้า) ได้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้เป็นสายไฟจิ๋วในเครื่องใช้ไฟฟ้า (nanoelectronics) ใช้ทอเป็นเส้นใยที่มีความละเอียดสูง และทนทานกว่าไทเทเนียม เป็นต้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพากันตื่นตัวและให้ความสนใจต่อนาโนเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
 
ปัจจุบัน "นาโนเทคโนโลยี" กำลังกลายมาเป็นโครงการศึกษา และวิจัยในระดับชาติของหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนาโนเทคโนโลยีมาหลายปีแล้ว โดยมีงบประมาณถึง 116 ล้านเหรียญดอลลาร์ในปี ค.ศ. 1997(พ.ศ.2540) และเพิ่มเป็น 260 ล้านเรียญดอลลาร์ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) แต่การตื่นตัวในเรื่องนี้เพิ่งเห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งเมื่อต้นปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) ที่ประธานาธิบดีบิล คลินตันได้ออกมากล่าวถึงความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีด้วยตนเอง และระบุว่ารัฐบาลทุ่มทุนให้การสนับสนุนวิจัยและพัฒนาในเรื่องดังกล่าวถึง 422 ล้านเหรียญดอลลาร์ (18.5 พันล้านบาท) และจะเพิ่มอีกเป็น 519 ล้านเหรียญดอลลาร์ (กว่า 20,000 ล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ.2544) ส่วนในไต้หวัน สถาบัน The Industrial Technology Research Institute (ITRI) ก็ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology Research Center) เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2002 (พ.ศ.2545) โดยจัดสรรเงินประเดิมสำหรับการวิจัยในเวลา 6 ปี เป็นจำนวน 300 ล้านเหรียญดอลลาร์ แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นในทำนองเดียวกันในวงการวิจัยของประเทศญี่ปุ่น จีน และประเทศในทวีปยุโรป โดยสหภาพยุโรปได้ทุ่มเงินกว่า 13,000 ล้านยูโรในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนาโนเทคโนโลยี




ที่มา  http://www.baanjomyut.com

ความหมายของนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)


คำว่า นาโน (Nano) แปลว่าคนแคระในภาษากรีก แต่ในความหมายทางวิทยาศาสตร์หมายถึง มาตราวัดความยาวตามมาตราเมตริก 1 นาโนเมตร มีขนาด 1 ในพันล้านส่วนของ 1 เมตร (10 - 9 เมตร) แสดงว่า สิ่งใดก็ตามที่มีขนาดความยาว 1 นาโนเมตร จะมีขนาดเล็กมาก ดังนั้น คำว่า นาโนเทคโนโลยีจึงเป็นวิทยาการประยุกต์แขนงใหม่ที่ว่าด้วยเรื่องของการสร้างหรือการสังเคราะห์สิ่งของต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็กในระดับโมเลกุล และอะตอม และความหมายที่ง่ายต่อความเข้าใจมากที่สุด ก็น่าจะหมายถึง “เทคโนโลยีขนาดจิ๋ว” นั่นเอง
คำว่านาโนเทคโนโลยี นั้นเดิมทีศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟายน์แมน ใช้คำว่า Minimanufacturing ซึ่งหมายความว่าเป็นกระบวนการผลิตสิ่งที่มีขนาดเล็กจิ๋ว จนกระทั่งปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ศาสตราจารย์ โนริโอะ ทานิกูชิ (Norio Taniguchi) แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โตเกียวเป็นคนแรกที่เริ่มใช้คำว่า “Nanotechnology” (N. Taniguchi, "On the Basic Concept of 'Nano-Technology",  Proc. Intl. Conf. Prod. Eng. Tokyo, Part II, Japan Society of Precision Engineering, 1974)
นาโนเทคโนโลยีถือกำเนิดมาจากแนวความคิดที่ว่า วัตถุในโลกที่เห็นด้วยตาเปล่านั้นประกอบมาจากอะตอมและโมเลกุล ดังนั้นการผลิตสิ่งต่างๆ จึงน่าที่จะทำในลักษณะสร้างสิ่งใหญ่ขึ้นมาจากสิ่งเล็ก (Bottom-UP Manufacturing) ในระดับโมเลกุลหรืออะตอม
นาโนเทคโนโลยีเป็นการผสมผสานของวิทยาศาสตร์หลายแขนง เช่น ชีววิทยา ชีวเคมี วิศวกรรมศาสตร์สาขา หุ่นยนต์ และเครื่องจักรกล จุดมุ่งหมายสูงสุดของนาโนเทคโนโลยีก็คือความสามารถที่จะสร้างและจัดเรียงอนุภาคต่างๆได้ตามความต้องการ เพื่อสร้างสสารหรือโครงสร้างของสารในแบบใหม่ๆที่ให้คุณสมบัติพิเศษที่อาจจะไม่เคยมีก่อน



ที่มา  http://www.baanjomyut.com